มิภาคเอเชียมั่งคั่งจากการกลายเป็นแหล่งที่มาของผลผลิตจากโรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก แต่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งไปสู่ภาคบริการที่มีผลิตภาพสูงขึ้นนั้น มีศักยภาพที่จะสนับสนุนการเติบโตของเอเชียต่อไปได้อีก
โดยปกติการจ้างงานและการผลิตย้ายจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ ตามความก้าวหน้าที่มาพร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศในเอเชีย รวมถึง จีน อินโดนีเซีย เกาหลี และไทย มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง หากประวัติศาสตร์เป็นเครื่องชี้วัด ส่วนแบ่งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะลดลงเนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
ที่ผ่านมาการเติบโตของภาคบริการได้ดึงดูดประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานในภูมิภาคเข้าสู่ภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียงร้อยละ 22 ปี 2533 เนื่องจากแรงงานหลายร้อยล้านคนเปลี่ยนจากการทำงานเกษตรกรรมและโรงงาน การเปลี่ยนแปลงนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศในการบริการที่ทันสมัย เช่น การเงิน สารสนเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงการ outsourcing (ตัวอย่างเช่น ในอินเดียและฟิลิปปินส์ ที่ดำเนินการแล้ว) ในทางตรงกันข้าม บริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยวหรือบริการจัดจำหน่ายนั้น มีผลิตภาพต่ำกว่าและมีส่วนสนับสนุนน้อยกว่า ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผู้กำหนดนโยบายควรเปิดรับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ภาคบริการสมัยใหม่ เนื่องจากบริการเหล่านี้มีผลิตภาพที่สูงกว่า ดังที่เราได้แสดงไว้ในบันทึกเชิงวิเคราะห์ที่แนบมากับรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2567 การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยบริการมากขึ้น มาพร้อมกับโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น โดยต้องมีนโยบายที่เหมาะสมในการกำกับดูแล
ผลิตภาพเป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อพิจารณาว่าภาคส่วนใดสามารถสร้างการเติบโตได้ดีที่สุดในปีต่อ ๆ ไป ผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเอเชียนั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับผู้นำของโลกแล้ว ดังนั้นการพัฒนาเพิ่มเติมในภาคนี้ทำได้เพียงจำกัดขอบเขตในการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโต ในทางกลับกัน ภาคบริการในเอเชียไม่ได้มีความได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพ ดังนั้นเศรษฐกิจในภูมิภาคมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้น หากภาคบริการได้รับการพัฒนาให้มีที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในหลายภาคส่วนการบริการ เช่น การเงินและบริการทางธุรกิจ ผลิตภาพจะสูงกว่าในภาคการผลิต ซึ่งหมายถึงการมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น บทวิเคราะห์ใหม่ของเราแสดงให้เห็นว่าผลิตภาพของแรงงานในเอเชียในภาคบริการทางการเงินสูงกว่าในภาคการผลิต 4 เท่า และสูงกว่าภาคบริการทางธุรกิจ 2 เท่า
ถึงกระนั้นก็ตาม ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อจะได้รับประโยชน์จากภาคบริการ ภาคภาคอุตสาหกรรมเคยได้รับประโยชน์จากต้นทุนการค้าที่ต่ำและการบูรณาการโลกที่สูงขึ้น แต่ภาคบริการยังค่อนข้างเข้าถึงได้ยากในภูมิภาคเอเชียซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า เช่นเดียวกับพิกัดอัตราศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับภาคเกษตรกรรมในเอเชีย ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 7.5 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก บริษัทต่างชาติที่หวังจะเข้าสู่ภาคบริการต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงการแบนธุรกิจ ข้อกำหนดในการอนุมัติ การประกอบธุรกิจในพื้นที่ และอัตราภาษีที่สูงขึ้น
ผู้กำหนดนโยบายควรตระหนักด้วยว่าแรงงานที่ออกจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีทักษะในการหางานที่ดีในภาคบริการ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ซึ่งเข้ามาแทนที่งานบางประเภท เช่น งานธุรการ นโยบายต่าง ๆ ควรรับประกันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี และแนะนำการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัญญาประดิษฐ์
เมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์ว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงในหลายประเทศในเอเชียเนื่องจากมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การกระตุ้นผลิตภาพโดยการส่งเสริมบริการที่มีผลิตภาพเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย
— บล็อกนี้เขียนขึ้นตามบันทึกเชิงวิเคราะห์เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเอเชีย: อดีตและแนวโน้ม” [ลิงก์] ซึ่งรวมอยู่ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2567